เฝ้าระวัง ท่อซีเซียม-137 ถูกหลอมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เสี่ยงปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอัตรายต่อชีวิต

 เฝ้าระวัง ท่อซีเซียม-137 ถูกหลอมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เสี่ยงปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอัตรายต่อชีวิต


       จะเกิดความเสียหายรุนแรงหนักหรือไม่ หลังพบว่าท่อบรรจุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ได้ถูกหลอมละลายไปกับเศษเหล็กเรียบร้อยแล้ว ในโรงงานหลอมเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อาจส่งผลให้รังสีเบตาและแกมมาซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเล็ดลอดออกมาปะปนในอากาศโดยเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กสามารถพัดไปตามลมในพื้นที่โดยรอบ จะก่อผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อรังสีที่อันตรายเหล่านี้เข้าไปในร่างกายจนทำลายอวัยวะ ทำลายเนื้อเยื่อของเซลล์ ซึ่งทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูง

       เป็นความจริงที่ต้องยอมรับเมื่อท่อบรรจุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้ถูกหลอมไปแล้ว จากการระบุของ “สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โดยที่เกณฑ์มาตรฐานของค่ารังสีที่ปล่อยออกมาจะต้องมีค่าไม่เกิน 0.15 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง จึงจะมีความปลอดภัยจากรังสีที่ไม่สามารถแผ่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งต้องไปวัดค่าบริเวณกองเศษเหล็กในโรงงานหลอม แต่ในขณะนี้ไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวเลขว่ามีค่ารังสีเท่าไร ต้องมีความโปร่งใส และอยากให้มีการตรวจสอบวัดค่ารังสีให้ประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจน “ซีเซียมลอตที่ถูกหลอมไปได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็ได้ปะปนไปกับอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรรีบไปทำการตรวจสอบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกพื้นที่อย่างในน้ำ ในดิน ส่วนในอากาศ คนก็หายใจไปแล้วในรัศมี 5 กิโลเมตร ภาครัฐจำเป็นต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและในอาหาร สัตว์น้ำ พืช ผัก ผลไม้ ที่ปลูกอยู่บริเวณรอบๆโรงงาน ควรกำหนดพื้นที่วิกฤติของสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมตรวจสอบอย่างน้อยเป็นเวลา 1-2 ปี ให้มีความแน่ใจว่าไม่มีสารซีเซียมตกค้างหรือปนเปื้อนที่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ หากลงไปในน้ำก็เข้าสู่ตัวปลา และคนก็จับปลามากิน” ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจะเกิดขึ้นในระยะยาว หากรับสารเข้าไปทั้งจากการหายใจและการกิน จนทำให้เข้าไปในเซลล์ร่างกาย และเกิดการกลายพันธุ์ หรือมิวเทชัน (mutation) กลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ และบางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นโครโมโซมในยีนทำให้เปลี่ยนรูป ในท้ายที่สุดภายในระยะเวลา 5-10 ปี อาจก่อมะเร็งได้ในอนาคต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการสูดเข้าไปได้มากหรือน้อย ตามทิศทางลม หากสูดเข้าไปมากจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากและเร็วขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทางสำนักงานปรมาณูฯ ต้องนำมาเป็นบทเรียนยกระดับความปลอดภัยในการประเมินความเสี่ยงภายในอนาคต แม้จะมีการประกาศและบอกประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกจนมากไป แต่สารซีเซียม-137 ได้ปะปนในอากาศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องตั้งคลินิกในพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวัง อีกทั้งโรงงานรีไซเคิลในระยองได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตันไปสกัดเป็นธาตุสังกะสีแล้วหรือยัง จะต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะมีการหลอมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. ซึ่งต้องวัดปริมาณรังสีในน้ำ ในดิน และพืชผักผลไม้ ในพื้นที่ระยองไปด้วย อย่างน้อย 1-2 ปีผลกระทบจากสารซีเซียม-137 ยังได้ทำให้ผลไม้ในพื้นที่ปราจีนบุรี อย่างเช่น มะยงชิด และพืชผักอื่นๆ ขายไม่ออกทำเงินไม่ได้ ถือเป็นบทเรียนจากการทำงานไม่ทันท่วงทีและขาดประสบการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำให้หลุดออกมาได้ ซึ่งจะต้องทำแผนประเมินความเสี่ยงทุกด้านไว้รองรับ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ซ้ำรอย และจะต้องเร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ หรือมีการเฝ้าระวังผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยเป็นเวลา 1-2 ปี รวมถึงผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนเป็นระยะเวลาอยู่ในช่วง 5-10 ปี.




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาราสาว ดิว อริสรา เปิดใจ

หนุ่มฝันประหลาดเหมือนเดิม 3 ครั้ง ตามไปเจอ "หินนาคราช" คาดเป็นสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมของเขมรโบราณ

ปีนี้อากาศร้อนสุดๆ ในรอบ 8 ปี สัญญาณภัยแล้งกำลังมาเยือนเตรียมตัวเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ