ปีนี้อากาศร้อนสุดๆ ในรอบ 8 ปี สัญญาณภัยแล้งกำลังมาเยือนเตรียมตัวเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปีนี้อากาศร้อนสุดๆ ในรอบ 8 ปี สัญญาณภัยแล้งกำลังมาเยือนเตรียมตัวเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปี 2566 ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลหน้าร้อนอย่างเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. และอากาศจะร้อนมากขึ้นหลายพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นไป จากนั้นจนถึงปลายเดือน เม.ย.อากาศจะร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุดคือ 40-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ก่อนจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน พ.ค. นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ฝนในปีนี้จะตกน้อยลงในฤดูฝน เป็นสัญญาณของความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำ เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในไม่ช้านี้ และจะส่งผลกระทบต่อหลายส่ิงหลายอย่างเป็นโดมิโน ยิ่งเมื่อฟังจากปากของ “รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ชี้ให้เห็นว่า จากนี้ไปลานีญาเริ่มอ่อนกำลังลง และเอลนีโญเริ่มมีกำลังแข็งขึ้น จะทำให้ฝนในปีนี้ตกไม่มากเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา หากไม่ระวังในเรื่องการจัดเก็บน้ำ ก็จะมีปัญหาในด้านการทำเกษตร หลังจากปรากฏการณ์ลานีญามาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และเอลนีโญ กำลังมา “เป็นสัญญาณเตือนต้องเริ่มมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ และสภาพอากาศปีนี้ร้อนมากขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้ผู้คนมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย ประสิทธิภาพของคนทำงานจะลดน้อยลงจากอากาศที่ร้อนมาก ตามมาด้วยเอลนีโญ จะเกิดไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 จะยิ่งเยอะมากขึ้น หากเอลนีโญยังคงอยู่ ทำให้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. หลายพื้นที่ฝนจะน้อยลงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เกษตรกรจะต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตอย่างมาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำใดๆ”
จากภาพฉายแบบจำลองล่าสุดของทาง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าอุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้ปีนี้มีอุณหภูมิที่ร้อนจัดทั่วทุกภูมิภาค ขณะที่ภาพฉายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC เป็นการคาดการณ์ในอนาคตว่าโลกจะร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส ณ สิ้นศตวรรษ จึงพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาดหวังให้ทุกประเทศมีการเพิ่มความพยายามหรือเพิ่มมาตรการ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วง 8 ปี ถือว่าร้อนที่สุดในรอบ 145 ปี สะท้อนให้เห็นว่าร้อนขึ้นเรื่อยๆ จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และปีนี้จะร้อนที่สุดในรอบ 8 ปี ทำให้เดือน เม.ย.อากาศจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน จะร้อนกว่าภาคกลางและภาคใต้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้อไปจนถึงเดือน ก.ย. ประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส แต่เดือน เม.ย.จะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก อาจบวกไปอีก 1 องศาเซลเซียส “เกษตรกรต้องเตรียมแหล่งน้ำให้เพรียบพร้อม และภาครัฐต้องพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ โดยเฉพาะข้าว หรือพืชต่างๆ ให้มีความทนร้อน ทนแสงได้มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ประเทศไทยเรายังขาดแคลนนักวิจัย และงบยังได้น้อยในการพัฒนาพันธุ์พืช เพราะโครงสร้างของทางราชการไม่เอื้ออำนวย ทำให้คนที่เก่งๆมีความรู้ความสามารถ ไม่อยากอยู่ในระบบราชการ และเมื่อมีอากาศที่ร้อนขึ้น แมลงต่างๆ และโรคพืช ก็จะมากขึ้นตามมา ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในการซื้อยากำจัดศัตรูพืช” โลกร้อนมากขึ้น ยังมีปัญหาตามมาจากไฟป่า ไทยจะต้องมีกำลังคนบุคลากรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการดับไฟให้ทันท่วงที อย่างประเทศสหรัฐฯ มีการเตรียมพร้อมรับมืออากาศร้อนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการปลูกป่าเพิ่ม ควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าที่มีอยู่เดิม นอกจากนั้นอากาศที่ร้อนมากขึ้นจะกระทบต่อระบบอาหารในการจัดเก็บอาหาร ทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้เร็ว จะเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อาหาร หรือแม้แต่ข้าวในไซโลจะเสื่อมค่าลง ส่วนเรื่องของภัยแล้งจะกินเวลายาวนานไปจนถึงเมื่อใดนั้น ไม่มีใครสามารถบอกได้ แต่นับจากนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย.จะแล้งกว่าค่าเฉลี่ยปกติ เกือบทั่วประเทศของไทย สามารถคาดการณ์ได้ในระยะสั้นเท่านั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู ส่วนโอกาสที่ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมหนักน่าจะมีน้อยลง เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาแผ่วลง แต่ปีนี้จะแล้งหนักอย่างแน่นอน และไม่ใช่จะไม่เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ ขอให้เตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือ Spring Predictability Barrier เกษตรกรต้องระวังผลผลิตไม่ให้เสียหายอย่างมาก จากฝนที่อาจตกไม่ตามฤดูกาล และจากอากาศที่ร้อนขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น